Search this site

Wednesday 6 June 2018

เปรียบเทียบ Core M3, i5, i7 ใน Laptop/ notebook


สวัสดีครับ ผมเคยเขียนเปรียบเทียบ Core i3, i5,i7 เอาไว้ว่ามันคืออะไรและรหัสรุ่นของ intel มีความหมายอย่างไร ซึ่งมีผู้อ่านที่แนะนำเข้ามาให้เพิ่มข้อมูลให้จำเพาะมากขึ้น ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ในปัจจุบันนี้ intel ยิ่งนับวันยิ่งจะสร้างรุ่นเล็กรุ่นน้อยเพิ่มขึ้น และมีการแตกไลน์ออกมามากมาย และเปลี่ยนแปลงเกือบตลอดเวลา ทำให้การเขียนบทความให้เข้าใจง่ายๆ นั้นยากขึ้นมาก ไว้หากลงตัวเมื่อไหร่คงจะได้อัพเดทบทความกันทีเดียวนะครับ



วันนี้ผมจะมาแชร์ข้อมูลที่ต่างไปสักนิดหน่อย เพราะบังเอิญไปเจอบทความที่น่าสนใจที่เค้าเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ New Surface Pro (2017) โมเดล Core M3, i5, และ i7 แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก เหมาะที่จะนำมาใช้เป็น reference ในการเปรียบเทียบ Core M3, i5, i7 ใน Laptop/ notebook มากๆ ดังนั้น ผมขอออกตัวก่อนเลยว่าผลการทดสอบที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ได้มาจากในเว็บที่อ้างอิงครับ แต่การตีความและการสรุปผลนั้น ผมเขียนจากการวิเคราะห์ของผมเองเพิ่มเติมด้วย เพราะวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลมาใช้นั้นต่างกันอยู่บ้างนั่นเองครับ

ทำไม New Surface Pro (2017) ถึงเหมาะกับการทำ benchmark?


New Surface Pro (2017) นั้น มี variation ระหว่างโมเดลน้อยเมื่อเทียบกับ Laptop/ notebook รุ่นอื่นๆ ครับ ทั้ง Hardware และ Software
  • Hardware: New Surface Pro (2017) รุ่น Core M3, i5 และ i7 นั้น ต่างกันหลักๆ ก็แค่ CPU, on board GPU, RAM, SSD เท่านั้น นอกนั้นแทบไม่มีอะไรต่างกันเลย จัดได้ว่าตัวแปรน้อยกว่า
  • Software: Windows 10 Pro ที่ใช้ใน Surface Pro นั้น เป็น Surface edition ซึ่งได้ถูก pre-config มาเพื่อให้ใช้งาน Windows 10 ได้อย่างดีที่สุด โดยมี Drivers และ Bloatware ต่างๆ ติดเครื่องมาด้วยน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ มาก

หมายเหตุ ณ วันที่เขียนบทความนี้ Intel ยังไม่มี gen 8 ในส่วนของ Core M (หรือ Y series) ออกมา และกว่าจะออกมา U series gen 9 ก็อาจจะมาแล้วก็เป็นได้ ดังนั้น การใช้ Gen 7 มาเทียบกัน ก็ถือว่าล่าสุดแล้วครับ

เรามาเริ่มกันที่ Spec sheet ก่อนเลยว่าทั้งสามรุ่นนี้ต่างกันอย่างไร


CPU model
Core M3 7Y30
Core i5 7300U
Core i7 7660U
# of cores
2
2
2
# of threads
4
4
4
Clock speed
1.0-2.6 GHz
2.6-3.5 GHz
2.5-4.0 GHz
Cache
4 MB
3 MB
4 MB
TDP
4.5 W
15 W
15 W
GPU
HD 615
HD 620
Iris plus 640
จะเห็นได้ว่าจาก Spec sheet นั้น จำนวน Core และ Thread นั้นเท่ากันทั้งสามรุ่น (ซึ่งนี่จะต่างไปใน gen 8 ผมจะได้เขียนบทความถึงมันในโอกาสถัดไป)

ส่วนที่มีความแตกต่างมากที่สุด คือ Clock speed ระหว่างทั้งสามรุ่น โดย Core M มี speed น้อยกว่า Core i5 มาก ส่วน Core i7 นั้นกลับมี base clock speed ที่ต่ำกว่า Core i5 ด้วยซ้ำ แต่มี Turbo speed ที่มากกว่า สำหรับ Cache size นั้น Intel เหมือนจะตั้งใจลดประสิทธิภาพของ Core i5 ลงด้วยการให้ Cache size มาแค่ 3MB เท่านั้น ซึ่งดันน้อยกว่า Core M3 อีกต่างหาก

สำหรับ TDP นั้น Y-series อย่าง Core M3 กินไฟอยู่ที่ 4.5 W ส่วน U-series Core i5, Core i7 นั้นจะกินไฟอยู่ที่ 15 W ซึ่ง ถ้าดูจากค่านี้แล้ว ดูเหมือนว่า Core M3 จะประหยัดแบตเตอรี่ได้ดีกว่าที่เหลือทั้งสองตัว ส่วน Core i7 ก็ไม่น่าจะกินไฟมากกว่า Core i5 มากมายนัก

เอ้า มาดูผลการทดสอบ benchmark ต่างๆ กันเถอะ


Novabench

Novabench
Core M3 7Y30
Core i5 7300U
Core i7 7660U
System RAM test
152
159
211
CPU test
408
526
534
3D graphic test
61
63
231
Drive Write Speed test
19
26
36

ถึงแม้ว่าผมจะเกริ่นไว้ตอนแรกว่า New Surface Pro (2017) นั้น มีความแตกต่างในระหว่างรุ่นน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม จากผล Novabench ก็จะเห็นได้ว่ามีส่วนที่ต่างกันบ้าง เช่น RAM ในรุ่น Core i7 นั้นเร็วกว่ารุ่นอื่นๆ ถึง 30% และ SSD ก็มีความเร็วที่มากขึ้นตามขนาดของ SSD อยู่แล้วซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของ SSD ครับ

เรามาโฟกัสในส่วนของ CPU กันดีกว่า จาก Novabench นี้ CPU Core M3 ได้คะแนนน้อยกว่าอีกสองรุ่นถึงประมาณ 25% แต่ที่น่าสนใจก็คือ Core i5 ที่ได้คะแนนน้อยกว่า Core i7 แค่ไม่ถึง 10 คะแนนเท่านั้น

สำหรับ 3D graphic test นั้น Intel HD 615 ในรุ่น Core M3 และ 620 ในรุ่น Core i5 ให้ผลที่ไม่ต่างกัน แต่ Intel Iris plus 640 ที่มากับรุ่น Core i7 นั้นเจ๋งจริงครับ ได้คะแนนมากกว่าอีกสองรุ่นถึงเกือบ 4 เท่ากันเลยทีเดียว

สรุป ถ้าดูจาก Novabench แล้ว CPU Core i5 และ i7 นั้น ประสิทธิภาพต่างกันนิดเดียว แต่รุ่น Core i7 ที่มาพร้อม Iris plus 640 นั้นคือความแตกต่างที่สัมผัสได้ ดังนั้น หากซื้อ laptop ที่เป็น Core i7 ควรดูด้วยว่ามี GPU อะไรมาด้วยนะครับ ถ้าไม่มี dedicated GPU เจ้าตัว Iris Plus นี่แหละที่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก

PCMark 10

PCMark 10
Core M3 7Y30
Core i5 7300U
Core i7 7660U
Essentials
5824
6103
6900
Productivity
3749
4712
5866
Digital content creation
1807
2277
2740
PCMark 10 score
2440
2889
3444

PCMark 10 แสดงถึง performance สำหรับงานต่างๆ ซึ่งผลที่ได้แสดงออกมาเป็นขั้นบันไดสวยงามทีเดียว แสดงให้เห็นว่า รุ่นที่สูงกว่า เอาเข้าจริงๆ ก็ทำงานในแบบต่างๆ ได้ดีกว่า ยกเว้นก็แต่ Essentials ที่ Core M3 กับ Core i6 มีคะแนนที่ได้ต่างกันแค่นิดเดียวเท่านั้นครับ

สรุป ดูจาก PCMark 10 แล้ว จ่ายมาก ก็ได้มาก ตรงไปตรงมา

3DMark 11

3DMark 11
Core M3 7Y30
Core i5 7300U
Core i7 7660U
Time spy
Failed
Failed
571
Fire strike
721
824
1099
Sky diver
3249
3442
4354
Cloud gate
4953
5543
6820
Ice storm extreme
31780
33979
46521

3DMark 11 เป็นการทดสอบที่เน้นประสิทธิภาพของ 3D graphic performance เป็นหลัก ซึ่งผลของมันสอดคล้องกับ Novabench ด้านบนที่ว่า Intel HD ต่างรุ่นกันนิดหน่อยของ Core M3 และ Core i5 นั้น ให้ผลที่ต่างกันไม่มาก แต่ในรุ่น Core i7 ที่มี Intel Iris Plus นั้น ช่วยให้ได้คะแนนที่ดีขึ้นอย่างมาก ดังนั้นผมสรุปได้เลยว่า หากต้องการซื้อ Core i โดยเน้นที่การทำงาน 3 มิติแล้ว ต้องดูให้ดีว่า ได้ Iris Plus มาด้วยทุกครั้ง ขืนได้ Intel HD มาล่ะก็ ผมเชื่อว่าผลลัพธ์จะได้ไม่ต่างจาก Core i5 แน่ๆ

สุดท้าย ที่สำคัญที่สุดของผลลัพธ์ที่ได้จาก 3DMark 11 ก็คือ Laptop Core i5 ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า Laptop Core M3 อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับงาน 3 มิติ นี่ล่ะครับ

Browser tests

CPU
Core M3 7Y30
Core i5 7300U
Core i7 7660U
Google Octane v2.0
22018
31440
36030
Mozilla Kraken v1.1
1626 ms
1153 ms
1031 ms

Browser test ทั้งสองนี้ ทดสอบความเร็วในการรัน Javascript นะครับ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการทดสอบที่ไม่ได้หนักหนาอะไรมากมาย ซึ่งผลการทดสอบ บอกเราได้ว่า Core i5 ทำงานได้ดีกว่า Core M3 อย่างเห็นได้ชัด แต่ใน Core i7 กลับเร็วขึ้นแค่นิดเดียวเมื่อเทียบกับ Core i5

สรุปผลการเปรียบเทียบ Y-series Gen 7 Core M3, Core i5 & Core i7

เมื่อพิจารณาให้ดีจากผลการทดสอบด้านบนแล้ว ผมคิดว่าข้อสรุปเดิมๆ นั้นก็ยังใช้ได้ ที่ว่า
  • Y-series Gen 7 Core M3 นั้น เหมาะกับการใข้งานทั่วๆ ไป และก็น่าจะมีแบตเตอรี่ที่ใช้ได้นานที่สุดด้วย
  • Y-series Gen 7 Core i5 นั้น เหมาะกับผู้ที่ใช้ทำงาน productivity ต่างๆ
  • Y-series Gen 7 Core i7 (ที่มาพร้อมกับ Intel Iris Plus) นั้น เหมาะกับผู้ที่ทำงาน 3D graphics ครับ

ลองพิจารณากันดูนะครับ ว่าการใช้งานของเรานั้น เหมาะกับการใช้ชิปรุ่นไหน



Credit: ผลการทดสอบจาก Lovemysurface.net

No comments:

Post a Comment